ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี อักษรย่อ นมร.ส.ก.ป. เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ แบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 45 หมู่ 9 ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12150 ซึ่ง นายสมหมาย แก้วสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทวิคตอเรียปาร์คจำกัด มอบโฉนดที่ดินจำนวน 20 ไร่ ให้แก่กรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้น นายโกวิทย์ วรพิพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา รับมอบโฉนดที่ดินแล้วได้หารือกับ นายสุทธิ เพ็งปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในขณะนั้นและนายสมหมาย แก้วสวัสดิ์ เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการ แล้วตกลงให้เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้ทัน ปีการศึกษา 2535 อันเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา นายสุทธิ เพ็งปาน จึงได้มอบหมายให้ นายผจง อุบลเลิศ เป็นผู้ประสานงานเตรียมการในการรับสมัครนักเรียนรุ่นแรกตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ซึ่งต่อมา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 กระทรวง- ศึกษาธิการ จึงประกาศตั้งโรงเรียนตามโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ รุ่นแรกซึ่งมี นายผจง อุบลเลิศ เป็นผู้บริหารคนแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเป็นจุดสกัดมิให้นักเรียนในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าไปเรียนในกรุงเทพมหานครส่วนในในปีการศึกษา 2535 ได้รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 9 ห้องเรียน จำนวน 342 คน เป็นนักเรียนชาย 184 คน นักเรียนหญิง 158 คน มีครูประจำการ 7 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน และนักการ ภารโรง 2 คน
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี เป็นโรงเรียนในเครือของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย อันดับที่ 4 จากทั้งหมด 11 โรงเรียน ดังนี้
1. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
2.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ
4. โรงเรียนนวมิทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี
5. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต
6. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์
7.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี
8. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี
9. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จิรประวัติ นครสวรรค์
10.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี
11.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 โรงเรียนได้รับพระราชทานพระราชานุญาติ ให้ใช้ชื่อนำหน้าโรงเรียน “นวมินทราชินูทิศ” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2535 โรงเรียนใช้ชื่อพระราชทานนำหน้าว่า “นวมินทราชินูทิศ” มีทั้งหมด 9 โรงเรียน ดังนี้
1. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
2. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
4. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย
5. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2
6. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
7. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี
8. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทธปราการ
9. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี
ปัจจุบันโรงเรียนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องและยอมรับของประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ด้วยความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนนับตั้งแต่ 1. นายผจง อุบลเลิศ 2. นายคงวุฒิ ไพบูลย์ศิลป 3. นายมงคล อนุรักษ์ 4. นายกุศล กลแกม 5. นายโชว์นันต์ มารุตวงศ์ 6. นางสาวประทุม จิวัธยากูล 7. นายคณิต ภิรมย์ไกรภักดิ์ 8. นายวีระพงษ์ คล้อยดี 9. นายสาทร สมบุญ 10.นายสมชาย ฟักทอง 11. นายวรพันธ์ แก้วอุดม 12. นางชฎาพร เธียรศิริพิพัฒน์ และผู้บริหารสถานศึกษาคนปัจจุบันคือ นายวิสูตร คำนวนศักดิ์ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของครู นักเรียน สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี คณะกรรมการสถานศึกษา และ ผู้มีอุปการคุณ
วิิสัยทัศน์ของโรงเรียน
สังคมแห่งการเรียนรู้ คุ่คุณธรรม นำสู่สากล
อัตลักษณ์
บุคลิกดี มีวินัย
เอกลักษณ์
ความรู้ คู่กิจกรรม
คุณลักษณะประจำตัวนักเรียนสวนกุหลาบ
เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อเเม่ ดูเเลน้อง
ปรัชญาของโรงเรียน
“ สุวิชาโน ภวํ โหติ ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ “
ผู้รู้ดี คือ ผู้ที่รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ได้ดี
...หมายถึง รู้อ่าน รู้คิด รู้เท่าทัน รู้ความ และรู้คุณ
ผู้เจริญ คือ ผู้ที่เจริญด้วยความประพฤต ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ
...หมายถึง กระทำแต่สิ่งดีงาม สร้างสรรค์ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
สีประจำโรงเรียน
“ ชมพู - ฟ้า ”
สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทาน
กำเนิดโรงเรียนซึ่งตรงกับวันอังคาร
สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถซึ่งตรงกับวันศุกร์
ความหมายของ สีชมพู คือ ความสุภาพอ่อนหวาน อ่อนโยน นอบน้อม เป็นสีแห่งความรัก ความเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่ที่มีต่อบุคคลทั่วไป เป็นสีแห่งเมตตาธรรม
ความหมายของ สีฟ้า คือ ความเข้มแข็ง ความอดทน ความกล้าหาญ ความเสียสละ เป็นสีแห่งท้องฟ้าที่มี
อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นสีแห่งจักรวาล
|